ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น นำมาซึ่งความร่วมมือของทั่วโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้นวัตกรรมดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องการให้เอสซีจีเปิดเผยและจัดการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับการออกกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และการแข่งขันในตลาดสินค้าคาร์บอนต่ำ
เอสซีจีจึงตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามความตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยกำกับดูแลและดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตามแนวทางสากลในทุกหน่วยธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในด้านพลังงาน เอสซีจีมีแผนลดการใช้พลังงาานฟอสซิล ปรับมาใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนและพลังงานทดแทน รวมไปถึงปรับแผนบริหารจัดการในกระบวนการผลิต
ในปัจจุบัน เอสซีจีได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงผลิตสินค้าที่มีฉลาก SCG Green Choice เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่มีความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
ในด้านของการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เอสซีจีได้ใช้หลักการเศรษฐกิจหมนุนเวียนในหน่วยธุรกิจของเอสซีจี รวมไปถึงการบริหารจัดการของเสียจากการก่อสร้างอย่างเป็นระบบ
การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติ พาเรากลับสู่ธรรมชาติ
นอกจากแผนการปฏิบัติงานภายในองค์กรแล้ว องค์กรธุรกิจทั่วโลก รวมถึงเอสซีจี ต่างให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติ (Natural Climate Solutions: NCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ควบคุมกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อลดหรือกำจัดก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นการนำ NCS ไปใช้ในวงกว้าง
โดยแนวทางปฏิบัติ NCS ครอบคลุมตั้งแต่วิธีการปฏิบัติและนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงเพิ่มและรักษาพื้นที่กักเก็บคาร์บอน เช่น การเพิ่มและรักษาพื้นที่ป่าบนบกและชายฝั่งตามธรรมชาติ รวมไปถึงการบูรณาการแผนบริการจัดการพื้นที่ป่าที่เกี่ยวข้องกับชุมชน
ในต่างประเทศ โครงการที่เกี่ยวกับ NCS ได้เกิดขึ้นในหลายระบบนิเวศทั่วโลก โดยจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟู ปกป้อง และรักษา พื้นที่ดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติ
กรณีตัวอย่างจากบริษัทแอมะซอน ได้ลงทุนจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ และทุ่งหญ้าทั่วโลก โดยหนึ่งในโครงการที่ร่วมมือกับ The Nature Conservancy เป็นโครงการมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่ป่าในภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกาให้เกิดการจัดตั้งคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ แอมะซอนยังทุ่มงบประมาณราว 3.75 ล้านยูร เพื่อช่วยเหลือหลายเมืองในยุโรป โดยเริ่มต้นที่เบอร์ลิน ให้เกิดการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ลดเกาะความร้อนในเมือง และปรับปรุงการจัดการน้ำที่เกิดจากพายุ
เนสท์เล่กำลังลงทุนเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ป่าในประเทศกานาและโกตดิวัวร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นเพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าในห่วงโซ่อุปทานโกโก้ จนถึงตอนนี้ บริษัทได้แจกจ่ายต้นไม้นับล้านต้น และฝึกอบรมเกษตรกรในภูมิภาคกว่า 10,000 คน เกี่ยวกับความสำคัญของการปกป้องป่าไม้ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดทางการเกษตร
แอปเปิ้ลและองค์กรอนุรักษ์นานาชาติกำลังร่วมมือกันอนุรักษ์ป่าชายเลนขนาด 6,830 ไร่ในโคลอมเบีย ซึ่งเป็นป่าชายเลนที่มีคาร์บอนเครดิตครบถ้วนแห่งแรกของโลก
ในส่วนของเอสซีจี ก็ได้ก่อตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับประเด็น NCS มาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ป่าในโรงงาน และบริเวณโดยรอบ รวมไปถึงโครงการที่รักษาระบบนิเวศชายฝั่งของประเทศไทย
เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน โจทย์ใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ
ปัจจุบัน เอสซีจีกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยวิจัยในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทดแทน (AI Supervisory for Energy Analytics) รวมไปถึงอยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS)
CCUS เป็นเป็นเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และนำมากักเก็บภายใต้พื้นดินหรือใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆ แนวคิดนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ครั้งแรกในด้านการผลิตน้ำมันในขั้นตอนที่เรียกว่า “การสูบน้ำมันแบบก้าวหน้า” (Enhanced oil recovery : EOR) ตั้งแต่ปี 1970
โดยในอนาคตเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีระดับสูงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมจากทุกภาคส่วนและหลายมิติ
ทั้งในส่วนของทรัพยากรบุคคลที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาเข้ามาทำงานร่วมกัน และในส่วนของระบบ เช่น การจัดตั้ง Consortium ซึ่งมีบางกลุ่มเกิดขึ้นแล้ว อย่าง CCUS Consortium
ในการพัฒนาเทคโนโลยีจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายการทำงานที่เชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศแถบยุโรป ดังนั้น ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องศึกษากรณีตัวอย่างจากต่าปงระเทศที่มีเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน โดยนำจุดเด่นของแต่ละประเทศมาปรับใช้ในเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
นอกจากนี้ ด้านการเงินและการลงทุนยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้การศึกษา วิจัย พัฒนา และบูรณาการให้เกิดเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การปฏิบัติงานจริงได้
คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เป็นเป้าหมายของเอสซีจี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ระดับผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ไปจนถึงระดับประเทศ โดยต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรคนและเงินทุนที่จะใช้ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่ต้องใช้งานได้จริงและแก้ปัญหาได้