แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี กับการลดโลกร้อนและเป้าหมาย Net Zero 2050
เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิถีการบริหารจัดการทั้งด้านสังคม การบริหารธุรกิจ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นหนึ่งกลไกที่รัฐบาล และภาคเอกชน ได้นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างโอกาสทางนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง วัตถุดิบที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติถูกผลิตขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ และถูกกำจัดทิ้งเมื่อเสร็จสิ้นการใช้ประโยชน์ ในทางกลับกัน ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างระหว่างการกระบวนการผลิตและวัฏจักรของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรนี้ด้วย
World Economic Forum นิยามเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่าเป็นระบบอุตสาหกรรมที่ได้รับการบูรณะ หรือสร้างใหม่ อย่างมีเจตนาร่วมกับการออกแบบ โดยเข้ามาแทนที่แนวคิดเรื่องหมดอายุการใช้งานด้วยการฟื้นฟู เปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ขจัดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ซ้ำ และเข้าสู่นิเวศการผลิตอีกครั้ง และมีเป้าหมายเพื่อกำจัดของเสียผ่านการออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ รวมไปถึงแผนธุรกิจ
ในประเทศไทย รัฐบาลได้พยายามผลักดันนโยบายเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่าน BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)
BCG Economy เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วยนวัตกรรม
นอกจากนี้ ในส่วนของภาคธุรกิจต่างก็ได้รับปัจจัยเร่งเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยหลักการ ESG คือ การนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาลมาพิจารณาในการวิเคราะห์ คัดเลือก และบริหารการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและดึงดูดนักลงทุน
การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี
เอสซีจีให้ความสำคัญกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยดำเนินการภายใต้หลักการ “ผลิต-ใช้-วนกลับ” เพื่อจัดการและรับมือกับปัญหาขยะ การขาดแคลนทรัพยากรของโลก และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผ่านการส่งเสริมแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ที่สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง และใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าให้ทรัพยากรอย่างสูงสุดและจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายและแนวทางของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี จึงเป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด โดยการสร้างระบบการผลิตใหม่ (Re-process) ผ่านการออกแบบใหม่ (Re-design) การสร้างคุณค่าใหม่ (Added value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เพิ่มขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการใช้ซ้ำ (Reuse) ถือเป็นการสร้างคุณค่าที่ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจอีกด้วย
แนวทางปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี
1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เพื่อให้มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น เอื้อต่อการแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่คุณภาพยังคงเดิม
2. การจัดหาทรัพยากร (Resource Input) การใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ หรือการเลือกใช้ทรัพยากรที่มาจาก Renewable Resources ในการผลิตสินค้า และการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต
3. การผลิต (Manufacturing) โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ (Autonomation) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลให้ของเสียจากกระบวนการผลิต การใช้น้ำและพลังงานลดลง
4. การขาย การตลาด และการขนส่ง (Sale and Distribution) ส่งเสริมระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ระบบการเช่าสินค้า (Leasing) และ Sharing Platform เพื่อให้การขายและขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดการ Optimization ในขั้นตอนการขายและขนส่ง
5. การใช้งานผลิตภัณฑ์ (Product Use) จากการออกแบบที่ทนทานมากขึ้น และง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน พร้อมด้วยการบริการซ่อมบำรุง ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพยาวนานมากที่สุดตลอดช่วงอายุการใช้งาน
6. การกำจัด (Recovery) ผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุจะผ่านกระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งของเสียไปยังหลุมฝังหลบ เกิดการหมุนเวียนวัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุให้อยู่ในวงจรการผลิตและบริโภคให้นานที่สุด โดยประยุกต์ใช้กระบวนการนำกลับต่างๆ เช่น การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การนำกลับพลังงานจากขยะ
หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจ แต่เป็นกุญแจสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จะช่วยก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต สร้างความสามารถในการแข่งขัน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างคุณค่าให้แก่องค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในหน่วยธุรกิจของเอสซีจี
- แปรรูปเศษหัวเสาเข็มจากการก่อสร้างให้มีมูลค่า กับการบริหารจัดการเศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็ม (Pile Waste Solution)
ในงานก่อสร้างโครงสร้าง เศษหัวเสาเข็มคอนกรีตเป็นของเสียที่มีน้ำหนักมากที่สุดซึ่งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะถูกกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ โดยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการ
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจึงนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยการบริหารจัดการเศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็ม (Pile Waste Module) ซึ่งเป็นวิธีจัดการเศษเสาเข็มเพื่อลดการนำเศษหัวเสาเข็มคอนกรีตไปฝังกลบ โดยนำมาผ่านกระบวนการบดย่อย และนำไปใช้แทนวัสดุก่อสร้างในงานต่างๆ เช่น วัสดุรองพื้นทางสำหรับทำถนน หรือที่จอดรถ และแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นต้น
เศษคอนกรีตที่นำไปใช้งานมีคุณสมบัติเทียบเท่าคอนกรีตปกติ และยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดมลภาวะ ลดการขนส่งเพื่อนำไปกำจัด และยังช่วยลดการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการ นับเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของจัดการเศษหัวเสาเข็มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
Pile Waste Module เกิดจากความร่วมมือกับเจ้าของโครงการ ผู้พัฒนาโครงการ และผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยตั้งแต่ปี 2020-2021 มีโครงการก่อสร้างอาคารเข้าร่วมแล้ว 22 โครงการจาก 11 บริษัท เมื่อปี 2021 เอสซีจีได้เข้าไปจัดการเศษเสาเข็ม และนำไปบดย่อย เพื่อเป็นวัสดุก่อสร้างลานจอดรถของบริษัท Covestro Thailand และเป็นวัสดุรองพื้นทางของห้างสรรพสินค้าเซนทรัล จังหวัดจันทบุรี
เมื่อคำนวนรวมเศษเสาเข็มจากโครงการต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ พบว่ามีจำนวน 14,096 ตัน คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1,397 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
- SCG GREEN CHOICE
นอกจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชัน เพื่อตอบโจทย์ด้านคุณสมบัติในการใช้งานแล้ว โจทย์ข้อสำคัญที่เอสซีจีกำลังพัฒนาคือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์ SCG Green Choice ฉลากรับรองผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ตรงตามมาตรฐาน
โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ จะต้องมีคุณสมบัติสีเขียว ได้แก่ ช่วยประหยัดพลังงาน ลดโลกร้อน (Climate Resilience) ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และยืดอายุการใช้งาน (Circularity) และสุขอนามัยที่ดี (Well-Being)
ยกตัวอย่างในผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ของเอสซีจีที่ได้รับฉลาก SCG Green Choice อย่างปูนงานโครงสร้างเอสซีจี สูตรไฮบริด มีการพัฒนาคุณสมบัติด้านการใช้งานด้วยการเพิ่มความแข็งแรง กำลังอัดสูง โครงสร้างทนทานยาวนานเป็นพิเศษ ร่วมกันกับความคงทนต่อการขัดสี จึงลดการหลุดล่อนได้ดีกว่าปูนโครงสร้างทั่วไป คงทนยาวนานตลอดอายุการใช้งาน ควบคู่กันไปกับการพัฒนาคุณสมบัติที่ทำให้ได้รับการรับรองฉลาก SCG Green Choice นั่นคือช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต อย่างน้อย 50 กิโลกรัมต่อตันปูนซีเมนต์
เหล่านี้เกิดจากความมุ่งมั่นและพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทุกมิติ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต จนส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืนกว่าให้กับสินค้า บริการ และโซลูชั่นของเอสซีจี
- สร้างความร่วมมือกับพันธมิตร ต่อยอดแนวคิด SCG Circular Way
เอสซีจีเป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CECI) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คือ “ร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้และเพิ่มความสามารถในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและผลตอบแทนทางสังคม”
เอสซีจีมุ่งมั่นขยายเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมนำเสนอนวัตกรรมของเอสซีจีมายกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น โครงการ Pile Waste Solution โดยในปี 2564 มีงานก่อสร้างอาคารที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 10 โครงการ จาก 5 บริษัท คิดเป็นจำนวนเศษเสาเข็มกว่า 2,854 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 283 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และยังมีโครงการนำเศษวัสดุก่อสร้างอื่นๆ กลับมาใช้เป็นวัสดุทดแทนวัตถุดิบธรรมชาติในการผลิตปูนซีเมนต์ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป
นับตั้งแต่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจกับการบริหารธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เอสซีจีได้ประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยพิจารณาจากปัจจัยขับเคลื่อนทางธุรกิจ ความเสี่ยงหลักและโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG รวมถึงประเด็นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญ เพื่อช่วยเร่งขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายและสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุดในทุกแห่งที่ดำเนินธุรกิจ