กระแสปัจจุบันของภาคอุตสาหกรรมที่หันมาให้ความสนใจในหัวเรื่องการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตและขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สอดคล้องไปกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ โดยเฉพาะกับธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างที่นับว่าเป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด

การพัฒนานวัตกรรมการใช้พลังงานจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องเร่งคิดค้นและดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งกับกระบวนการภายในสายพานการผลิต และการปลดปล่อยออกสู่สังคมภายนอก

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ดำเนินการเชื้อเพลิงทดแทนและพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและเลือกใช้ให้เหมาะสมสำหรับรูปแบบการทำงาน พร้อมกับปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นภาพรวมในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก พร้อมผลลัพธ์ในการลดใช้พลังงานจากถ่านหินและไฟฟ้า

เป้าหมายที่พลังงานทางเลือกสมบูรณ์แบบ

ภาพโครงการโซลาร์ฟาร์มที่โรงงานแก่งคอย ขยายกำลังการผลิตสู่ 4 เฟส เต็มประสิทธิภาพ

การใช้เชื้อเพลิงทดแทนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องลงมือทำ ภารกิจที่เอสซีจีจำเป็นต้องทำจึงเป็นเรื่องของการมองหาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่คุ้มค่ากับการลงทุน และเหมาะสมกับกระบวนการภายในโรงงาน เพื่อให้สามารถใช้งานพลังงานทางเลือกเหล่านี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเต็มประสิทธิภาพ

เส้นทางสู่เป้าหมายของการใช้เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทดแทนและพลังงานหมุนเวียนของเอสซีจี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2544 จากการนำยางรถยนต์ใช้แล้วมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทน พร้อมกับพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากความร้อนเหลือทิ้งในกระบวนการผลิต (Waste Heat Power Generation, WHG) พลังงานชีวมวล การผลิตก๊าซชีวภาพจากการบำบัดน้ำเสีย  โดยเฉพาะการใช้โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายในพื้นที่โรงงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งแบบโซลาร์ฟาร์มบนบก โซลาร์รูฟทอปบนหลังคา และโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มากขึ้น จนปัจจุบัน สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนและพลังงานหมุนเวียนของเอสซีจีคิดเป็น 35% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด

เถ้าแกลบ แหล่งพลังงานชีวมวลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การเริ่มต้นใหม่ย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งเรื่องค่าความเสถียรของความร้อนที่ไม่คงที่ ต่างจากการใช้ถ่านหินแบบเดิม ปริมาณความร้อนที่แตกต่างกันไปตามแหล่งทรัพยากรพลังงาน การจัดสรรพื้นที่จัดเก็บทรัพยากร และเครื่องจักรที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการใช้งานเชื้อเพลิงทดแทนแต่ละรูปแบบ แต่ความพยายามปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดการเริ่มต้น และดำเนินการต่อไปได้ คือความหมายสำคัญที่ซ่อนอยู่ในความมุ่งมั่นครั้งนี้

ปัจจุบัน โรงงานปูนซีเมนต์สามารถเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทดแทนในบางโรงงานได้ถึง 50% แล้ว โดยโรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศมีแผนจะเลิกใช้ถ่านหิน (Zero Coal) 100% ภายในปี 2030 และเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงสุดคือไม่ใช้พลังงานจากภายนอกเลย

ตัวอย่างจริง และผลลัพธ์จริงจากการใช้งานเชื้อเพลิงทดแทน

พาชมเชื้อเพลิงทดแทนและพลังงานหมุนเวียนแต่ละรูปแบบที่ทางโรงงานของเอสซีจีเลือกใช้ และเห็นผลลัพธ์ในการช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินและการซื้อไฟฟ้าจากภายนอกได้จริง

พลังงานที่ใช้งานในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของเอสซีจี แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ที่ได้มาจากการไฟฟ้า พลังงานทดแทนที่เกิดจากการหมุนมอเตอร์ รวมทั้งแผ่นโซลาร์ และพลังงานความร้อนจากการเผาวัตถุดิบ จากเดิมที่เคยใช้ถ่านหิน เปลี่ยนมาใช้งานชีวมวลและ RDF (Refuse Derived Fuel – เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย) เพื่อให้ความพยายาม Zero Coal หรือการเลิกใช้ถ่านหินโดยสมบูรณ์เกิดขึ้นได้จริง

01 Solar Farm และ Solar Floating – พลังงานแสงอาทิตย์

DCIM\100MEDIA\DJI_0096.JPG

จากพื้นที่ว่างเปล่า ติดตั้งแผงโซลาร์รับพลังงานแสงอาทิตย์ ก็แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงานได้เป็นอย่างดี โดยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบตามพื้นที่ติดตั้ง ได้แก่ Solar Farm หรือการติดตั้งบนพื้นดิน ยกตัวอย่างที่โรงงานแก่งคอยที่มี 3 เฟส ปัจจุบันกำลังดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติมอีก 1 เฟส เพื่อให้กำลังไฟเพียงพอกับการใช้งาน

ส่วน Solar Floating เป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำว่างเปล่าในอ่างเก็บน้ำจากเหมืองเดิม การติดตั้งฟาร์มแผ่นโซลาร์แบบลอยน้ำมีข้อควรคำนึงในการติดตั้งมากกว่าบนดิน เพราะมีเรื่องของการรักษาระบบนิเวศภายในน้ำให้เป็นไปอย่างปกติด้วย สำหรับการติดตั้งโซลาร์แบบลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่โรงงานท่าหลวง ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่าของโรงงานเขาวง เฉพาะที่โรงงานเขาวงการันตีกำลังการผลิตที่ 2.5 เมกะวัตต์/วัน และใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทดแทนพลังงานจากการไฟฟ้าในสายพานการผลิต

02 Biomass และ Energy Pallet – เศษวัสดุจากการเกษตร จำพวกแกลบ ขี้เลื่อย ใบอ้อย

หญ้าฟางเหลือใช้การเกษตรของชาวบ้าน สู่การเป็นแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับโลก

ชีวมวลจากเศษวัสดุทางการเกษตรมีหลักการผลิตพลังงาน โดยการเผาเพื่อให้เกิดความร้อน โดยจำเป็นจะต้องลุกไหม้ให้หมดภายใน 3 วินาที เพื่อไม่ให้เกิดคาร์บอนส่วนเกินจากการเผาไหม้ที่จะสร้างปัญหาต่อในระบบ พร้อมกับเป็นการจัดการใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

รูปแบบการจัดการชีวมวลจากเกษตรกรต้นทาง แบ่งได้เป็นสองแบบคือ รับซื้อจากเกษตรกรภายในโรงงาน ซึ่งสามารถบดอัดและนำไปใช้เผาได้เลย และอีกรูปแบบการรับเศษวัสดุทางการเกษตรจากเกษตรกรแบ่งเป็น รับซื้อหน้าโรงงาน หรือส่งทีม Eco Partner ไปพร้อมกับเครื่องจักรย่อย บีบอัด และจัดเก็บ บริการเกษตรกรถึงพื้นที่หน้างาน โดยเครื่องจักรจะบีบอัดให้เป็น Pallet (ก้อนขนาดเล็ก) หรือ Briquette (ก้อนขนาดใหญ่) เพื่อความสะดวกต่อการขนส่งและจัดเก็บของทั้งเกษตรกรและโรงงาน

เครื่องจักรย่อยและบีบอัดชีวมวลให้เป็นก้อนขนาดเล็ก เพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างการขนส่งและจัดเก็บ

ปัจจุบันที่โรงงานเขาวงมีการใช้พลังงานจากชีวมวลปริมาณ 800-900 ตัน/วัน คิดเป็น 30% ของการใช้พลังงานในโรงงาน ส่วนโรงงานแก่งคอยจะใช้ 700 ตัน/วัน

03 RDF (Refuse Derived Fuel) – โรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ

รวบรวมขยะเหลือทิ้ง ก่อนนำไปเผาให้กลายเป็นแหล่งพลังงานสำหรับการผลิตต่อไป

จากเศษขยะเหลือทิ้งที่คนไม่เห็นค่า แท้จริงแล้วนี่คือแหล่งพลังงานชั้นดีให้กับกระบวนการผลิต โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งทำโรงคัดแยกขยะ โรงเก็บสะสม เพื่อนำขยะเหลือทิ้งไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแง่การผลิตพลังงาน พร้อมกันกับการลงทุนในเทคโนโลยีด้วยการมองภาพรวมของสังคมที่การลดขยะเหลือทิ้ง และใช้งานขยะอย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

ผลที่ตามมาจากการเผา RDF คือการเกิดสารประกอบคลอไรด์คงเหลือส่วนเกินจากกระบวนการ ซึ่งทำให้อุดตันในระบบการผลิตและอาจส่งผลต่อคุณภาพของปูน จึงต้องคิดแก้ปัญหาต่อด้วยการติดตั้ง Chloride Bypass เพื่อให้การใช้ RDF เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และหมุนเวียน Chloride ส่งไปใช้ประโยชน์เป็นส่วนประกอบของปุ๋ยคลอไรด์ขายต่อให้กับเกษตรกรต่อไป

04 Waste Heat Generator (WHG) – ลมร้อนเหลือทิ้งจากหม้อเผา

การใช้งานนวัตกรรมที่เปลี่ยนลมร้อนจากเตาเผาให้หมุนเวียนกลับมาเป็นแหล่งพลังงานอีกครั้งหนึ่ง

ลมร้อนเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ หรือลมร้อนจากหม้อเผา ถูกหมุนเวียนกลับมาเป็นแหล่งพลังงานผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และน้ำร้อนจากการควบแน่นระหว่างกระบวนการผลิตจะถูกทำให้เย็นลง และหมุนเวียนกลับมาใช้งานผ่านเครื่องจักรต่อไป นับว่าเป็นการหมุนเวียนวัตถุดิบและแหล่งพลังงานจากกระบวนการผลิตอย่างแท้จริง

แม้จะเป็นพลังงานที่มีจำนวนจำกัดเพราะขึ้นอยู่กับปริมาณในกระบวนการผลิต แต่เอสซีจีก็มีความพยายามที่จะใช้งานพลังงานจากลมร้อนที่สูญเสียไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการใช้งาน WHG เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเฟสแรกที่โรงงานทุ่งสงและโรงงานท่าหลวง ส่วนเฟส 2 อยู่ที่โรงงานแก่งคอย โดยปัจจุบันนี้การใช้งาน WHG ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงไปได้ถึง 35%

05 EV – การใช้รถพลังงานไฟฟ้า

ยานพาหนะใช้งานภายในโรงงานทยอยปรับสู่การใช้งานรถพลังงานไฟฟ้า

ภายในโรงงานเองมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนการขนส่งและสัญจรภายในมาสู่การใช้งานรถพลังงานไฟฟ้า ทั้งกับรถเหมือง รถยกเล็ก และรถโม่ CPAC หากแต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในคราวเดียวมีข้อควรคำนึงในเรื่องของค่าใช้จ่าย ประเภทของรถที่ใช้งาน และการจัดการกับรถแบบเดิม การทำงานทั้งหมดจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ไม่หยุดที่จะทดลองและลงมือทำ

ณ ตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้าภายในโรงงานของเอสซีจีทยอยเริ่มปรับเปลี่ยนรถเหมือง รถยกเล็ก และรถโม่ CPAC บางส่วน ซึ่งรถบรรทุกหินปูนในเหมืองพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่นี้นับเป็น 4 คันแรกในประเทศไทย

เรื่องราวพลังงานยังมีอาณาบริเวณของความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางต่อไปแบบไม่รู้จบ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทางเลือกการใช้ทรัพยากรที่แตกต่าง หรือการลงทุนทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงทรัพย์ หากแต่ความมุ่งมั่นที่พร้อมเปลี่ยนเพื่อโลกที่ยั่งยืน อยู่ในดีเอ็นเอของชาวเอสซีจีที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรม ปูทางไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ให้เกิดขึ้นจริงได้ภายในปี 2050