เพราะเรื่องราวความรักโลกไม่ใช่กระแส แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องลงมือทำ เอสซีจีออกเดินทางบนเส้นทางสาย Circular Economy มาตั้งแต่ปี 2016 และครั้งนี้คือหมุดหมายสำคัญที่จะก้าวไปสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ผลจากความสำเร็จที่ผ่านมาโดยตลอด นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับองค์กรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเริ่มต้นจากภาคนโยบายที่ต้องการร่วมแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรตั้งแต่ภาคการผลิตถึงการบริโภค ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติจริงผ่านโครงการและมาตรการมากมายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน
เราชวนคุณมาพูดคุยกับหัวเรือใหญ่ของเอสซีจี คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ในบทบาทของภาคนโยบายองค์กร และ คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ถึงการสร้างพันธกิจของห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนผ่านนวัตกรรมและการปฏิบัติจริงในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
จุดเดือดของประเด็นสิ่งแวดล้อม และการทำธุรกิจยั่งยืนของเอสซีจี
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อตัวเราทุกคนและทุกภาคอุตสาหกรรม ในฐานะที่เอสซีจีเป็นสมาชิกของ World Business Council for Sustainable Development องค์กรระดับโลกที่ทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกับประเด็น Climate Emergency หรือความเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้น การเริ่มต้นขยับก่อน ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานมากอย่างอุตสาหกรรมก่อสร้าง
คุณรุ่งโรจน์เริ่มต้นเกริ่นถึงอุตสาหกรรมก่อสร้าง “เอสซีจีเป็นผู้บุกเบิกการทำธุรกิจซีเมนต์ในประเทศไทยมามากกว่าร้อยปี ตลอดเวลาเรามีการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ผลของปริมาณคาร์บอนจากกระบวนการผลิตและขนส่งของเรา ก็ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้น ”
หากแต่ภาคการผลิตของเอสซีจีเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ โจทย์จึงเป็นเรื่องการจะทำอย่างไรให้ดำเนินอุตสาหกรรมและธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน “ธุรกิจแรกของเราเลยคือปูน จากนั้นก็วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ กระดาษ ปิโตรเคมี ของพวกนี้มีส่วนช่วยให้บ้านเรามีการพัฒนา ช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นนั้นแล้ว ถ้าเราบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงนี้เราจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 20% ภายในปี 2030 โดยที่กระบวนการผลิตยังดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
“องค์กรของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เราต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ หมายถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เราต้องมีส่วนเข้าไปช่วยเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องทำมากกว่าการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ แต่ต้องเข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม เพราะเราเป็นพลเมืองโลก เป็นธุรกิจโลก นี่เป็นจุดประสงค์ของบริษัทตั้งแต่ก่อตั้งเลยว่า เราต้องทำเรื่องเหล่านี้”
เมื่อขับเคลื่อนภาคนโยบายจนแปลมาถึงแนวทางภาคปฏิบัติภายในองค์กรได้แล้ว สิ่งที่ท้าทายที่สุดต่อการผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำในภาคธุรกิจของคุณรุ่งโรจน์คือ การหาแนวร่วมที่มองเห็นความสำคัญของเป้าหมายปลายทางเดียวกันที่ความยั่งยืน และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
“เราต้องมาคุยกันให้เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน หลายเรื่องต้องหาจุดสมดุลร่วมกันระหว่างเรากับคู่ค้า ซึ่งเป็นองค์ความรู้ เพื่อให้เห็นทิศทางที่สำคัญและทำร่วมกัน ทุกวันนี้ผมเองให้เวลากับเรื่องนี้ครึ่งหนึ่งของการทำงานทั้งหมดไปแล้ว” คุณรุ่งโรจน์ทิ้งท้าย
อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งแง่การดำเนินธุรกิจและสิ่งแวดล้อม
จากเป้าหมายระยะยาวที่ปี 2050 การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ชวนมองเป้าหมายระยะสั้นที่ปี 2030 ลดก๊าซเรือนกระจก 20% เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่เห็นผลจริง และเป็นบันไดขั้นต่อไปในการเดินทางสู่ปลายทางร่วมกัน
“เราเป็นผู้ผลิตซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง การจะลดส่วนนี้ได้มีหลายแนวทาง และแน่นอนว่าเรื่องพลังงานเป็นลำดับแรก”
“จากเดิมที่เคยใช้ถ่านหินเป็นพลังงานหลัก หลายปีที่ผ่านมาเราเริ่มลดการใช้ถ่านหินลงได้ประมาณ 35% แล้ว เราก็จะลดให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพลังงานทดแทน หรือเชื้อเพลิงทางเลือก ตอนนี้เรามีการนำ Biomass หลายตัวมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ ใบไม้แห้ง ของเหลือจากภาคการเกษตร และซังข้าว นำมาแปรรูปเพื่อการขนส่งทำได้สะดวกขึ้น และ RDF แปลงขยะเป็นพลังงาน ซึ่งสิ่งสำคัญคือ เทคโนโลยีที่ทำให้การใช้งานพลังงานทดแทนแล้ว คุณภาพของสินค้ายังไม่เปลี่ยนเพราะบางครั้งในกระบวนการผลิตต้องการความร้อนสูง จึงต้องปรับสภาพสิ่งเหล่านี้ก่อนแล้วก็ปรับเตา ปรับเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อให้รับของเหล่านี้ได้”
“อันที่สองก็คือพลังงานทดแทนการใช้ไฟฟ้าทั้งสามแบบ โซลาร์ติดตั้งบนหลังคา โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งเราใช้งานโซลาร์เป็นหลักมายาวนานหลายปี และก็ยังมีโอกาสอื่นอีก อย่างพลังงานลมซึ่งเรากำลังศึกษาอยู่ หรือพลังงานโซลาร์ที่ต้องเอาพื้นที่ที่ห่างไกลโรงงาน ซึ่งต้องมีการพูดคุยกับภาครัฐถึงความเป็นไปได้ สิ่งเหล่านี้ต้องบอกว่าที่เราทำได้เองก็ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เราต้องร่วมมือกับผู้อื่นก็ดำเนินการควบคู่กันไป”
ประเด็นการพาประเทศไทยไปสู่ระบบนิเวศที่เป็นกรีน หรือ Green Transition ย่อมต้องใช้เวลายาวนาน และการร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งถือเป็นนโยบายระดับประเทศที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ไปได้ไกลและดีกว่าเดิม
“กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นกรีน ไม่ได้เริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายอย่างเดียว จำเป็นจะต้องมี Roadmap พร้อมกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน มีกลไกของการทำให้เกิดความกรีนขึ้นภายในประเทศ เช่น คาร์บอนเครดิต หรือแรงจูงใจต่างๆ ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือทางรัฐบาลจะให้สำหรับคนที่ทำธุรกิจกรีน”
ในส่วนของเอสซีจีเอง ก็มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน “งานนี้จะเรียกเราว่าเป็น Leading Founder เลยก็ได้” คุณนิธิ แนะนำให้เรารู้จักกับเครือข่าย CECI
“CECI (Circular Economy in Construction Industry) อันนี้เราทำมานับแล้วก็ประมาณสี่ปีแล้ว เกิดจากการรวมตัวองค์กรใหญ่ประมาณ 20 องค์กรก่อสร้างเข้ามาร่วมมือกัน แลกประสบการณ์ Best Practice ซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างมีประสบการณ์เทคโนโลยีหรือวิธีการที่ดีในการใช้วัสดุให้มีประโยชน์สูงสุด การลดการใช้วัสดุ การทำการก่อสร้างที่นอกจากรักษ์โลกแล้วยังลดมลพิษด้วย”
“ความร่วมมือเกิดขึ้นในหลายโครงการ อย่างการ Upcycling และการลดการใช้งานวัสดุ เช่น หัวเสาเข็มที่เคยต้องขนไปทิ้งไกลๆที่ทั้งเปลืองพลังงาน ต้องทิ้งของไป เราก็เอาเทคโนโลยีที่สามารถจะบดหัวเสาเข็มพวกนี้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่ต้องขนไปทิ้ง ก็เป็นการประหยัดวัสดุด้วย เช่น ทำเป็นพื้นที่ทางเท้า หรือเป็นอิฐและวัสดุก่อสร้างขึ้นมาได้”
ในประเทศเอง ยังมีการรวมตัวของสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย TCMA (Thai Cement Manufacturers Association) “เราได้มีการรวมตัวกันทำมาตรฐาน Low-carbon Cement เพื่อนำไปพูดคุยต่อกับทางภาครัฐ และร่วมกันสนับสนุน เพราะฉะนั้นในอุตสาหกรรมเราเนี่ยก็ต้องสร้างความร่วมมือไม่ใช่เฉพาะฝั่งที่เป็นผู้ใช้ แต่ผู้ผลิตก็ต้องร่วมมือกัน อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราร่วมมือกันมาและได้รับการตอบรับจากภาครัฐที่ดีและรวดเร็วมาก นี่เป็นอีกสิ่งที่ผมเห็นว่าเรามีความหวังว่าประเทศเราเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ จากการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วจากภาครัฐบาลซึ่งอันนี้ก็ถือว่าน่ายินดีครับ”
และการรวมตัวในระดับนานาชาติ “เอสซีจีร่วมกับองค์กรระดับโลกอย่าง GCCA (Global Cement and Concrete Association) ช่วยกันหาเทคโนโลยี แชร์ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติเพื่อจะเอาสิ่งที่ดีจากทั่วโลกเข้ามาปรับปรุงอุตสาหกรรมเรา ซึ่งจะเห็นได้ว่า การดำเนินการเหล่านี้ หากเราทำคนเดียวก็ทำได้ระดับหนึ่ง ถ้าเราชวนองค์กรอื่นทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตแล้วก็เป็นทั้งระดับโลกมา มันก็จะทำได้ในอีกระดับหนึ่ง เพราะมันจะมีเรื่องของความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยี เงินลงทุน และนวัตกรรม”
นวัตกรรมที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน
“เราทำทั้งกับหน่วยงานภายในของเรา และภายนอกผ่านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสำหรับผู้บริโภค” คุณนิธิเล่า “เริ่มจากนำหลักการ 3R – Reduce ลดการใช้งาน, Reuse – ใช้ซ้ำ และ Recycle – นำของเก่ากับมาใช้ใหม่และได้ประโยชน์เท่าเดิมมาใช้ในองค์กร และการดำเนินการอื่นๆ เช่น การปิดไฟที่ไม่จำเป็น การใช้เทคโนโลยีช่วยลดการใช้พลังงานภายในตึกลง 30% หรือการใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้น อย่างระบบ IoT ที่ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตามสภาพแวดล้อม”
รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลาก SCG Green Choice การันตีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดี “เช่นสินค้า Low-carbon Cement ปูนซีเมนต์ที่ปรับปรุงสูตรการผลิตผ่านการนำวัสดุอื่นมาทดแทนผสมบางส่วน โดยปูนซีเมนต์คุณภาพเท่าเดิม แต่สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ซึ่งผู้บริโภคก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี จากนี้เรามีแผนในการเปลี่ยนเป็น Low-carbon Cement ทั้งหมด”
“อะไรที่ยิ่งใช้เวลายาวนาน เช่นการปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อมาใช้สินค้ากรีน และการขยายแนวทางการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้ง Value Chain เราต้องเริ่มต้นให้เร็วที่สุด เพราะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะเปลี่ยนได้สำเร็จ” คุณนิธิทิ้งท้ายถึงความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อม
“แต่เราเข้าใจว่าการทำเหล่านี้ไม่ใช่ทำเรื่องเดียว ไม่ใช่มีแค่เป้า แต่มันต้องมีทุกเรื่องที่เป็นองค์ประกอบทั้งระบบนิเวศ กลไกต่าง ๆ ความรู้ความเข้าใจที่ต้องสร้างให้สังคมด้วย ซึ่งส่วนนี้ผมคิดว่าภาครัฐบาลที่มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างความรู้ให้ประชาชนเข้าใจ มีหน้าที่ออกกฎระเบียบที่เหมาะสมเพื่อจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้เร็วขึ้น รวมทั้งภาคเอกชนเอง ก็ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษาที่ต้องช่วยกันหาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ทำให้สิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก ให้กลายเป็นเรื่องง่าย และภาคสังคมที่จะต้องเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาด ทั้งเรื่องสินค้า Low-Carbon และการยอมรับในมุมมองการบริโภค”
นอกจากในกระบวนการผลิตเอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือชุมชน ที่จะช่วยกันร่วมสร้างระบบนิเวศของ Natural Climate Solutions หรือ แนวทางการลดสภาวะโลกร้อนและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ซึ่งถ้าทำได้ก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าไม่ได้มีผลทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่มีผลทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตด้วย”
“เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การปลูกต้นไม้ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลนหรือป่าบก เกิดเป็นระบบนิเวศที่ช่วยดูดซับคาร์บอน และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กับสัตว์ป่าตามธรรมชาติได้ ทั้งหมดนี้เป็นวงจรที่เสริมกันทั้งหมด”
การจัดกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Natural Climate Solution – NCS) เช่นการปลูกต้นไม้ ปลูกป่าชายเลนและหญ้าทะเล
“เพราะฉะนั้นการปลูกป่าแล้วก็การจัดการระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น มีทั้งป่ามีทั้งน้ำ แล้วชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากน้ำตรงนี้ได้ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบที่เพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งในแง่เศรษฐกิจ ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตสำหรับการยังชีพ พร้อมกับเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งด้วย แล้วพอเกิดป่า เกิดน้ำ ก็เกิดอาชีพตามมาจากประโยชน์ของป่าเศรษฐกิจ ชาวบ้านก็จะได้รับประโยชน์โดยทั่วกัน”
แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่ประกอบด้วย E – Environment สิ่งแวดล้อม, S – Social สังคม และ G – Governance ธรรมาภิบาล จึงอยู่ในวงจรความยั่งยืนที่จะก้าวต่อไปร่วมกันด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันที่ความยั่งยืน “การลดความเหลื่อมล้ำก็เป็นจุดประสงค์หนึ่งของเรา แล้วพอชาวบ้านมีอาชีพ มีกินมีใช้ ก็จะนึกถึงสิ่งแวดล้อมต่อไป เพราะฉะนั้นเหล่านี้มันเสริมซึ่งกันและกันหมดนะครับ มันไม่สามารถที่จะอยู่โดดเดี่ยวได้”
“เรื่องนี้ไม่ใช่ภาระของรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่เป็นภาระของพวกเราที่อยู่ในปัจจุบันที่ต้องเริ่ม และก็ต้องทำให้เต็มที่เพื่อให้เป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกประสบความสำเร็จได้ เพราะเป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันทำทันที ซึ่งถ้าทั้งหมดนี้ ทุกคนตระหนักถึงวิกฤตครั้งใหญ่ร่วมกัน รู้หน้าที่ของตัวเอง และลงมือทำอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา นั่นคือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ไม่ว่าจะ 2030 หรือ 2050 ก็จะสำเร็จได้อย่างดี”